10 ขั้นตอนการเริ่มต้นธุรกิจส่วนตัว
|

10 ขั้นตอนการเริ่มต้นทำธุรกิจส่วนตัว

10 ขั้นตอนการเริ่มต้นธุรกิจส่วนตัว

ปีใหม่ผ่านมากันแล้วเป็นอย่างไรกันบ้าง หลายคนเริ่มปีมาก็เอาแล้วเริ่มเหนื่อยแล้ว ปัญหาที่ค้างคาจากปีก่อนปีนี้ก็ยิ่งสะสมหมักหมมกันมากขึ้น เรื่องที่เบื่อตั้งแต่ปีก่อนก็หายไปแค่ช่วงปีใหม่ได้พักผ่อน แถมโบนัสที่คิดว่าจะได้กลับได้น้อยลง มาปี 2020 นี้อาจจะเริ่มคิดถึงเรื่องการเริ่มต้นธุรกิจส่วนตัวของตัวเองอีกทีหลังจากผ่านปีใหม่กันไปไม่นาน เรามาดูกันว่าถ้าคิดจะเริ่มต้นธุรกิจส่วนตัวกันเราจะต้องทำอย่างไรกันบ้าง

  1. ค้นหาสิ่งที่ชอบสิ่งที่สนใจและสิ่งที่ทำได้ดี: เคยมีคำกล่าวไว้ว่า อะไรที่เราชอบทำมักจะทำได้ดีกว่าคนอื่น หากเรายังไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นทำธุรกิจอะไร ลองเอาสิ่งที่ชอบทำทำหมดมานั่งดูซิว่า มีอะไรบ้างที่ชอบทำและทำได้ดีทำเก่งกว่าคนอื่น มันอาจจะมีเรื่องที่เราชอบทำแต่ทำได้ไม่ดี เราอาจใช้เวลาพัฒนาให้เราสามารถทำได้ดีได้ในอนาคต แต่หากคิดจะเริ่มต้นทำธุรกิจแล้วและไหนๆเราเลือกสิ่งที่เราชอบแล้ว ก็สามารถเลือกงานที่เราชอบทำและทำได้ดีมากที่สุดมาเริ่มก่อน อย่างน้อยก็ยังได้เปรียบในการแข่งขันเมื่อเทียบกับคนอื่นๆแล้ว เช่น เราชอบทำอาหาร เราชอบวาดรูป แต่เวลาทำอาหารแล้วมีแต่คนชมว่าอร่อยมากๆ แต่กลับวาดรูปเรากลับวาดได้ธรรมดามากไม่ค่อยมีคนสนใจ ในเคสนี้อาจจะลองดูธุรกิจที่เกี่ยวกับอาหาร หรือเปิดร้านอาหารก็เป็นได้ เพราะไหนๆก็ทำอาหารอร่อยแล้ว หากต่อยอดซักหน่อยรับรองจะไปได้ดีแน่ๆ
  2. ค้นหาสินค้าหรือบริการที่มีแนวโน้มการเติบโตที่ดี: ทำสิ่งที่ชอบและสิ่งที่ทำได้ดีแล้วอาจจะยังไม่เพียงพอ ลองค้นหาสินค้าหรือบริการต่างๆที่ดูแล้วมีแนวโน้มในการเติบโตที่ดี มี trend ที่เติบโต เราลองอาจค้นหาใน google ดูได้หรือจะใช้ keyword tool ของ google ในการค้นหาแนวโน้มตลาดต่างๆ หรือว่าจะใช้ google trend ก็ได้เพื่อสำรวจแนวโน้มอะไรที่กำลังมา อะไรที่กำลังหมดแรง และเลือกสินค้าหรือบริการที่ตอบโจทย์ตลาดนั้นๆ
  3. ค้นหาสินค้าหรือบริการที่เราเห็นตลาดชัดเจน: บางครั้งตลาดมีแนวโน้มที่ชัดเจน คนสนใจเยอะ แต่กลับไม่สามารถระบุกลุ่มเป้าหมายได้ชัด ลองค้นหาให้ลึกขึ้นให้เข้าใจตลาดมากขึ้น ดูซิว่าตลาดนั้นๆมีใครกันแน่ที่ต้องการสินค้าหรือบริการนั้นอย่างมากและพร้อมที่จะกระโจนเข้าตลาดหากมีสินค้าหรือบริการนี้จริง เราอาจจะเริ่มเห็นปัญหาเฉพาะกลุ่มของคนกลุ่มหนึ่งโดยเฉพาะ เช่น ในปัจจุบันคนเริ่มดูแลตัวเองและสุขภาพมากขึ้น แต่ยังขาดร้านอาหารที่ช่วยเรื่องสุขภาพอย่างจริงจัง หากมีร้านที่สามารถตอบโจทย์เป้าหมายแบบนี้ได้ก็จะทำให้ความเสี่ยงในการทำธุรกิจลดน้อยลง และเราจะชัดเจนกับกลุ่มเป้าหมายและความต้องการของเค้ามากขึ้น
  4. เก็บข้อมูลเกี่ยวกับสินค้า ลูกค้า และคู่แข่ง: รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง เป็นคำกล่าวของซุนวูที่ครั้งนึงชำนาญเรื่องการสงครามเป็นอย่างมาก ได้กล่าวเอาไว้เชิงเปรียบเทียบว่า เมื่อเรารู้ข้อมูลมากกว่า ก็สามารถที่จะมีโอกาสชนะได้มากกว่า ยิ่งยุคปัจจุบันเป็นยุคที่ทุกๆคนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้มหาศาลมากจึงเป็นโอกาสที่ดีของผู้ประกอบการและผู้ที่สนใจทำธุรกิจเนื่องจากสามารถนำข้อมูลสินค้า ข้อมูลลูกค้า ข้อมูลคู่แข่งมาวิเคราะห์เพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันให้มากขึ้น ยิ่งมีข้อมูลมากเท่าไรสามารถนำมาวิเคระาห์ได้มากขึ้นเท่าไร โอกาสได้เปรียบและชนะคู่แข่งขันก็มีมากขึ้นเท่านั้น แต่อย่างไรก็ตามอะไรที่มากเกินไปมัวแต่วิเคราะห์อย่างเดียวไม่ลงมือทำ ย่อมไม่ได้ผลที่ดีแน่ต่อให้วิเคราะห์มาดีมากๆ การวิเคราะห์สินค้า ลูกค้าและคู่แข่งทำให้เราเข้าใจตลาด เข้าใจความต้องการของลูกค้าและตลาดได้ทำให้สามารถนำเสนอสินค้าที่ตอบโจทย์ hidden needs ต่างๆและสามารถสร้างความแตกต่างและคุณค่าให้กับธุรกิจให้กับสินค้าได้เป็นอย่างดี
  5. วางแผนธุรกิจและแผนการตลาด: เมื่อข้อมูลที่หามานั้นเต็มล้นเอ่อแล้วพร้อมบทวิเคราะห์ต่างๆที่วิเคราะห์ทุกๆมุมที่ต้องการออกมาเป็นอย่างดี ขั้นต่อมาก็คือนำข้อมูลและบทวิเคราะห์นั้นนำมาวางแผนให้เป็นแผนธุรกิจและแผนการตลาด เพื่อนำข้อมูลทั้งหมดนำมาเรียงกันเป็นแผนให้เราเห็นภาพทั้งหมดก่อนเริ่มต้นผลิตที่จะต้องลงทุนจริงๆ และสามารถทบทวนความเป็นไปได้ ความขัดแย้ง ในแต่ละจุดของแผนเราก่อนที่จะเริ่มต้นจริงๆ นอกจากนี้แผนธุรกิจจะมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งเพราะยังเป็น guideline ของทุกคนในทีมให้มองเห็นภาพเดียวกันว่าธุรกิจกำลังจะเดินหน้าไปทางไหน จะต้องทำอะไรบ้าง ภาพของธุรกิจ ภาพของแบรนด์จะเป็นอย่างไร มีสิ่งไหนที่สำคัญที่ต้องทำ ทำให้ทุกคนสามารถมองเห็นเป้าหมายและทางเดินเดียวกันและสามารถปฏิบัติงานได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
  6. เริ่มทดสอบตลาด: เมื่อมาถึงจุดนี้ เชื่อว่าหลายคนอยากเริ่มผลิตสินค้าเต็มแก่กันแล้ว หลายคนอาจเริ่มต้นที่ผลิตสินค้าไปก่อนเลยด้วยซ้ำ รีบสต๊อคสินค้า รีบซื้อนำมาขาย แต่ขอให้เชื่อเหอะว่าเมื่อเราลงทุนไปแล้ว หากผิดทางบางทีเราไม่มีโอกาสที่สองที่จะแก้ตัวได้แล้ว เงินที่เราสะสมมาเนิ่นนานนั้นอาจจะหมดไปแล้วกับการสร้างโรงงาน ซื้อเครื่องจักร หรือแม้แต่สั่งผลิตสินค้าล็อตแรกและส่วนใหญ่มักจะเป็นล็อตใหญ่เพื่อให้ได้ราคาต่อหน่วยถูกลงมากๆ แต่ถ้าผิดทางละจะทำอย่างไร แผนที่เราทำมาคิดมาอาจจะดีจริง แต่เมื่อลงตลาดลงสนามจริงแล้วอาจมีข้อผิดพลาดมากมาย สิ่งที่ควรทำก่อนผลิตสินค้าจริงๆคือทดสอบตลาดไม่ว่าจะเป็นการทดสอบทดลองขายด้วยสินค้าไม่กี่ชิ้น ลองขายสินค้าแบบไม่มีสินค้าหรือการทำโฆษณาเพื่อวัดแรงกระเพื่อมแรงตอบรับของสังคมต่อสินค้านั้นๆหากมีการทำสินค้าในรูปแบบใกล้เคียงนี้ขึ้นมาจริงๆ หากตลาดไม่ตอบรับเลยหรือตอบรับแย่มากแม้ว่าจะปรับแผนไปหลายอย่างแล้ว เราอาจต้องมานั่งทบทวนก็ได้ว่าจริงๆแล้วสินค้านี้ธุรกิจนี้อาจจะไม่ใช่สินค้าที่มีตลาดจริงๆ หรือเราอาจจะวางแผนอาจจะวิเคราะห์อะไรผิดไปก็ได้ และหากเรายังไม่ลงทุนจริง โอกาสในมือเรายังเปิด เรายังมีทุนเอาไว้เพื่อหาธุรกิจที่มีอนาคตได้ต่อไป
  7. ผลิตสินค้าจริง: ในขณะที่เริ่มทดสอบสินค้าไปหลายตัวหรือหลายๆวิธี เราอาจจะเริ่มเจอสินค้าที่เป็นฮีโร่ หรือแบบแผนที่มีแนวทางและการตอบรับที่ดีจากกลุ่มลูกค้า ตอนนี้ความมั่นใจในสินค้านั้นๆจะเพิ่มขึ้นมากโดยที่ไม่ต้องมีใครมาบอก คุณสามารถเริ่มต้นผลิตสินค้า เริ่มสั่งสินค้าจริงจัง หรือสั่งสินค้าในล็อตที่ใหญ่ขึ้นเพื่อให้เกิดความได้เปรียบมากขึ้นในการแข่งขันด้วยราคาต่อหน่วยที่อาจจะต่ำลงและแข่งขันได้ดีมากขึ้น
  8. ขายจริงในช่องทางค้าปลีก: ช่องทางการขายสามารถทำได้ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ หากเริ่มที่ออฟไลน์ก่อน ช่องทางค้าปลีกต่างๆเป็นช่องทางที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง แม้ว่าแนวโน้มค้าปลีกต่างๆกำลังถูกทดสอบด้วยตลาดออนไลน์ อย่างไรก็ตามช่องทางค้าปลีกไม่เพียงแค่ modern trade เท่านั้นที่ยังน่าสนใจ traditional trade อย่างร้านโชว์ห่วยร้านตามต่างจังหวัดก็ยังมีความน่าสนใจเพราะว่าสามารถเข้าถึงกลุ่มคนได้หลากหลาย การเลือกนำสินค้าไปขายยังช่องทางค้าปลีกในยุคนี้ก็ยังจำเป็นอยู่
  9. เพิ่มช่องทางในออนไลน์: ถ้ามีช่องทางค้าปลีกแล้วอย่างไรก็ห้ามพลาดสำหรับช่องทางออนไลน์เพราะถือว่าเป็นช่องทางหลักสำหรับยุคสมัยนี้ ใครไม่มีช่องทางสำหรับออนไลน์ การทำตลาดสำหรับการเริ่มต้นธุรกิจส่วนตัวนั้นถือว่าเป็นช่องทางที่เหมาะสมเนื่องจากใช้งบไม่เยอะไม่จำเป็นต้องมีร้านขายและสามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพหากรู้จักและเข้าใจวิธีการทำตลาดออนไลน์
  10. วัดผลและปรับปรุงวิธีให้เหมาะสม: ทั้งหมดทั้งปวง เมื่อลงมือปฏิบัติแล้ว สิ่งที่จำเป็นอีกอย่างคือการวัดผลงานที่เราได้คิดได้ทำมาตลอดเพื่อดูว่าได้ประสิทธิภาพแค่ไหน มีจุดไหนที่ยังทำได้ไม่ดีสามารถนำมาปรับปรุงให้ดีขึ้นได้ ในแง่ของการทำตลาดแล้วสามารถทำได้ดีขึ้นอีกแค่ไหน สามารถเข้าถึงลูกค้ามากขึ้นได้หรือไม่ หรือว่าจะลดต้นทุนการทำตลาดแต่ให้ผลลัพธ์ที่ดีขึ้นได้อย่างไร คำถามต่างๆนี้ล้วนแต่เป็นคำถามที่จะทำให้ผลลัพธ์ดีขึ้นได้และสามารถทำให้เราพัฒนากระบวนการต่างๆได้

เป็นอย่างไรกันบ้างกับ 10 ขั้นตอนง่ายๆที่สามารถให้ทุกๆคนสามารถเริ่มต้นธุรกิจส่วนตัวกันได้หากลองทำตามทีละขั้นตอนกันไป สิ่งที่ฝันกันก็ไม่ใช่เรื่องไกลและไม่ใช่แค่ความฝัน 

———————————————————————–

พิเศษ! ฟรี E-Book “สุดยอด 50 ธุรกิจและอาชีพที่น่าสนใจในปี 2020”

สุดยอด 50 ธุรกิจและอาชีพที่น่าสนใจในปี 2020

Similar Posts